ขายจิ้งหรีดที่ไหนดี
สวัสดีครับเพื่อนๆ สำหรับบทความนี้ผมจะมาแนะนำเรื่องราวเกี่ยวกับ ตลาดรับซื้อจิ้งหรีด กันครับเชื่อว่าเรื่องนี้น่าจะเป็นแนวทางให้กับคนที่สนใจเลี้ยงจิ้งหรีด หรือท่านที่เลี้ยงมาสักระยะแล้ว แต่ยังหาตลาดขายส่งจิ้งหรีดไม่ได้ หรือบางท่านที่ต้องการที่หาแหล่งรับซื้อจิ้งหรีดเพิ่มเติม
ในการเริ่มต้นเลี้ยงจิ้งหรีดสำหรับมือใหม่นั้น ไม่ได้ยาก แต่ปัญหาหลักอยู่ที่ว่าเลี้ยงจิ้งหรีดแล้วจะขายที่ไหน ผู้เลี้ยงใหม่ยังไม่มีใครรู้จัก ตลาดก็ไม่มี คงสู้เจ้าใหญ่ๆเขาไม่ได้ มีผู้เลี้ยงใหม่หลายรายที่ถามเกี่ยวกับเรื่องนี้ อันที่จริงแล้วไม่ว่าเราจะทำอะไร ขายอะไรก็แล้วแต่ช่วงแรกนั้นไม่มีใครรู้จักเราอยู่แล้วล่ะครับ ให้เราเริ่มต้นค้นหาตลาดใกล้บ้าน หรือแหล่งที่เรารู้จักก่อน หลังจากนั้นจะเริ่มมีคนแนะนำและมีการบอกต่อกัน จนเป็นที่รู้จักกันในที่สุด เมื่อเป็นที่รู้จักแล้วการขายจิ้งหรีดของเรานั้นก็เป็นหน้าที่เราว่าจะมีการขายแบบไหนบ้าง สำหรับวิธีการขายจิ้งหรีดนั้นก็มีอยู่ไม่กี่วิธีด้วยกันไปดูกันเลยครับ
วิธีการขายจิ้งหรีด
วิธีจำหน่ายมีหลายรูปแบบ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับผู้ซื้อว่าต้องการซื้อแบบไหน โดยปกติจะมีการจำหน่ายในลักษณะ ดังนี้
- นับจำนวนตัวขาย จะขายร้อยละประมาณ 30-40 บาท วิธีนี้ไม่ค่อยเป็นที่นิยมเท่าไหร่ เนื่องจากต้องใช้เวลาในการคัดเลือกและนับขายเป็นตัว หลายฟาร์มที่เป็นฟาร์มใหญ่จะทำให้เสียเวลาเป็นอย่างมาก
- ชั่งน้ำหนักขาย จะขายกิโลกรัมละประมาณ 100-200 บาท แล้วแต่ฟาร์มหรือตลาดด้วย เช่นบางช่วงที่เป็นฤดูฝน ฤดูหนาว จิ้งหรีดจะมีการโตช้า และปัญหาหลายอย่าง จิ้งหรีดช่วงนี้จะหายากและทำให้ราคาแพงขึ้น การขายจิ้งหรีดแบบชั่งขายเป็นกิโลนั้นได้รับความนิยมพอสมควร เนื่องจากเป็นการประหยัดเวลา
- จำหน่ายเป็นพ่อ-แม่พันธุ์จิ้งหรีด (1 ชุด = 10 บาท) ตัวผู้ 1 ตัว ตัวเมีย 3 ตัว การเริ่มต้นเลี้ยงจิ้งหรีดนั้นบางฟาร์มอาจใช้วิธีการนำพ่อแม่พันธุ์ลงในบ่อเลย เป็นอีกวิธีที่เลี้ยงง่ายเพราะ จิ้งหรีดโตแล้ว มีภูมิคุ้มกันมากกว่าการเริ่มเลี้ยงจากตัวอ่อน แต่การขายพ่อแม่พันธุ์จิ้งหรีดแบบนี้ก็เป็นวิธีที่ค่อนข้างยากเมื่อลูกค้าอยู่นอกพื้นที่ หรือคนละจังหวัดจะมีการจัดส่งที่ลำบากเพราะต้องส่งแบบตัวเป็นๆ วิธีการนี้จึงไม่ค่อยนิยมสักเท่าไหร่ จะใช้วิธีการเลี้ยงจิ้งหรีดด้วยการใช้ไข่จิ้งหรีด
- การขายไข่จิ้งหรีด เป็นอีกวิธีในการสร้างมูลค่าที่ได้จากจิ้งหรีด เพราะก่อนจับจิ้งหรีดขาย หลายฟาร์มจะมีการรองไข่จิ้งหรีดและ ขายไข่จิ้งหรีด ในราคาขันละ 50-100 บาทแล้วแต่ฟาร์ม สำหรับคนเริ่มต้นเลี้ยงใหม่ๆ จะนิยมซื้อไข่ไปฟักและเริ่มต้นเลี้ยง
- ขายจิ้งหรีดเป็นบ่อ วิธีการนี้เป็นอีกวิธีที่ได้รับความนิยมเช่นกัน เหมาะกับฟาร์มใหญ่ ๆ เป็นที่รู้จักกับพ่อค้าแม่ค้า และจะมารับซื้อถึงที่ฟาร์ม โดยใช้วิธีเหมาทั้งบ่อ เรื่องราคาก็ตกลงกันว่าบ่อละประมาณเท่าไหร่ ทางฟาร์มจับให้หรือพ่อค้าจับเอง

ตลาดรับซื้อจิ้งหรีด
1.ตลาดท้องถิ่น
- ตลาดระหว่างผู้เลี้ยงและผู้บริโภคในพื้นที่ (บ้านใกล้เคียง) จะซื้อขายกันโดยตรง คือผู้ซื้อจะซื้อที่บ่อเลี้ยง การซื้ออาจจะเป็นรายย่อย 1-2 ขีด ถึง 1 กิโลกรัม หรือมากกว่า แล้วนำไปประกอบอาหารทันที การบริโภคเป็นไปได้ ทั้งภายในครอบครัวหรือเพื่อสังสรรค์กับเพื่อนบ้าน
- ตลาดของฝาก บ่อยครั้งที่พบเห็นในพื้นที่ที่มีการเลี้ยงจิ้งหรีด จะมีลูกหลานที่ไปทำงานต่างจังหวัดหรือ กรุงเทพมหานคร เมื่อกลับมาเยี่ยมบ้านหรือกลับบ้านมักจะชอบซื้อจิ้งหรีดคั่วนำติดตัวกลับไปที่ทำงาน นำกลับไปกินเอง หรือซื้อเป็นของฝาก เป็นต้น
- ตลาดรวมท้องถิ่น ในพื้นที่บางแห่งจะมีเกษตรกรที่เป็นแม่ค่ำทำหน้าที่จัดซื้อรวบรวมจิ้งหรีดทุก ๆ เช้า เพื่อทำการแปรรูปเองแล้วส่งให้แม่ค้ำขายปลีกในเมือง หรือรวบรวมจิ้งหรีดเพื่อจัดส่งให้แม่ค้ำขายปลีกในเมืองนำไปทำการแปรรูป
2.ตลาดกลาง
เป็นตลาดที่รับซื้ออยู่ในตัวเมืองหรือแหล่งชุมชนใหญ่ ๆ เมื่อทำการรวบรวมจิ้งหรีดแล้วส่งไปตามแหล่งรับซื้อจิ้งหรีด กรุงเทพใหญ่ ๆ ตลาดรับซื้อจิ้งหรีด ภาคเหนือ ตลาดรับซื้อจิ้งหรีด ภาคอีสาน ตลาดไท ตลาดโรงเกลือ ตลาดกลางขอนแก่น ตลาดใหญ่ภายในจังหวัด เป็นต้น
3.ตลาดเชิงอุตสาหกรรม
เป็นการขายให้กับบริษัทหรือโรงงานโดยตรง จะมีการรับซื้อจากเกษตรกรโดยตรง หรือรับซื้อจากตลาดกลางก็ได้ เช่น สถาบันวิจัยและฝึกอบรม การเกษตรสกลนคร สถานบันเทคโนโลยีราชมงคล จังหวัดสกลนคร จะรับซื้อจิ้งหรีดที่สด (จิ้งหรีดมีชีวิต) สำหรับทำจิ้งหรีดอัดกระป๋อง เพื่อจำหน่ายต่างประเทศ
4.ตลาดต่างประเทศ
การขายจิ้งหรีดส่งออกไปต่างประเทศนั้นนับเป็นความฝันของฟาร์มหลายๆแห่ง เนื่องจากได้ราคาที่ค่อนข้างสูงมากกิโลกรัมละ 1000-2000 บาทเลยทีเดียว บริษัทใหญ่ในต่างประเทศนั้นจะนำจิ้งหรีดไปแปรรูปเป็น จิ้งหรีดผง เค้กจิ้งหรีด เส้นสปาเก็ตตี้จิ้งหรีด และอาหารแปรรูปจากจิ้งหรีดได้อีกหลายอย่าง แต่การจะขายจิ้งหรีดส่งออกไปต่างประเทศนั้นเป็นเรื่องที่ยากสำหรับฟาร์มเลี้ยงเล็กๆอย่างเรา เพราะจะต้องผ่านเกณฑ์ประเมินมาตรฐานหลายอย่าง

Supachai จิ้งหรีดฟาร์ม อุบล
ในช่วงการเริ่มต้นเลี้ยงจิ้งหรีดช่วงแรกนั้น เราต้องยอมรับว่าถ้ายังไม่มีลูกค้า ถ้ายังไม่มีใครรู้จัก ให้พยายามเข้าถึงลูกค้าทั้งแบบออฟไลน์และแบบออนไลน์ ต้องแนะนำหมู่บ้าน หรือบ้านใกล้ๆ หรือสร้างตัวตนบนโลกออนไลน์ ให้เป็นที่รู้จักเสียก่อน หลังจากนั้นพ่อค้าแม่ค้า หรือตลาดรับซื้อจิ้งหรีดจะเข้ามาหาเราเอง ศุภชัย ฟาร์มจิ้งหรีด อุบล ของเรานั้นเป็นฟาร์มจิ้งหรีดขนาดเล็กๆ ก็ได้เริ่มจากที่ยังไม่มีลูกค้า ก็ได้ใช้วิธีเข้าหาลูกค้าหลายวิธีเช่นเดียวกัน ผมเชื่อว่าแม้จะมีฟาร์มจิ้งหรีดใหม่ๆพึ่งเปิด แต่ก็อย่าพึ่งหมดหวังครับ ตลาดจิ้งหรีดยังไปได้อีกไกล
แหล่งขายจิ้งหรีด
เอาล่ะครับนี่ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ที่ผมได้แนะนำตลาดรับซื้อจิ้งหรีด สำหรับผู้เริ่มต้นเลี้ยงหรือฟาร์มที่ต้องการขยายตลาดเพิ่มลองนำไปปรับใช้กับฟาร์มดูนะครับ หรือท่านอาจจะค้นหาข้อมูลแหล่งรับซื้อขายจิ้งหรีดเพิ่มเติมได้จากกูเกิ้ล โดยค้นหาคำว่า ราคา จิ้งหรีด ตลาด ไท ตลาดรับซื้อจิ้งหรีด โคราช ตลาดรับซื้อจิ้งหรีด สุโขทัย ตลาดรับซื้อจิ้งหรีด ขอนแก่น ตลาดรับซื้อจิ้งหรีด อุบล ตลาดจิ้งหรีด pantip ในเรื่องของเทคนิคการทำตลาดแต่ละกลุ่ม และการขายจิ้งหรีดปลีกส่งที่ละเอียดกว่านี้นั้นเอาไว้ผมจะมาเขียนแนะนำใหม่ในบทความต่อไปนะครับ สำหรับเรื่องนี้ขอขอบคุณที่ติดตามครับ สวัสดีครับ